วัดความดันโลหิต ทำได้เองง่ายๆ ได้ที่บ้าน



โรคความดันโลหิตเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรอายุ 45-70 ปี พบว่าเป็นโรคความดันถึงร้อยละ 30-44 เลยทีเดียว และในจำนวนนี้ก็ยังมีอีกมากที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิต ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะโรคนี้ก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะหลายระบบ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจโต เส้นเลือดในสมองแตก หรือไตวาย เป็นต้น ดังนั้นการตรวจความดันด้วยเครื่องวัดความดันก็ถือว่าเป็นการตรวจเช็กสุขภาพขั้นเบื้องต้นของเราได้

หากเป็นเมื่อก่อน การตรวจวัดความดันจะต้องไปที่โรงพยาบาลเพื่อให้หมอหรือพยาบาลตรวจเช็กให้ แต่ปัจจุบันได้มีเครื่องตรวจความดันเป็นระบบดิจิตอลให้สามารถตรวจวัดเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน การวัดก็ง่ายแสนง่าย สามารถทำเองได้ง่ายๆ เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ป่วยได้อย่างมาก ข้อดีของการวัดความดันโลหิตที่บ้าน คือช่วยให้ผู้ที่ยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตในแง่ของการป้องกัน เพราะได้ทราบว่าตอนนี้ตนเองมีความดันที่ผิดปกติ และยังช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้นอีกด้วย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มากขึ้น และช่วยผู้ป่วยควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทำให้สุขภาพดีขึ้น ปลอดภัยจากโรคร้าย


ตรวจความดันโลหิตเองทำอย่างไร

ปัจจุบันการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง นิยมวัดด้วยเครื่องวัดความดันดิจิตอล เนื่องจากมีการอ่านค่าที่มีความแม่นยำสูง ทำได้ง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยาก ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ โดยวิธีการวัดเองมีวิธีการดังนี้ค่ะ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชาหรือกาแฟ และไม่สูบบุหรี่ก่อนทำการวัดอย่างน้อย 30 นาที
  • ไม่ออกกำลังกายก่อนการวัดความดัน
  • ไม่พูดคุยกันทั้งก่อนและในขณะวัดความดัน ห้องที่ใช้วัดความดันควรเงียบสงบ
  • พันแถบรัดรอบแขนให้พอดี โดยพันแถบสูงกว่ารอยพับข้อศอก 2- 3 เซนติเมตร ไม่แน่นหรือหลวมเกินไป โดยสามารถตรวจสอบได้ด้วยการใช้นิ้วชี้อีกข้างหนึ่งสอดเข้าไปได้พอดี
  • ผู้วัดความนั่งหลังตรงบนเก้าอี้ที่มีพนักที่แข็งแรง วางเท้าราบกับพื้น ไม่ไขว่ห้างหรือไขว้แขน วางแขนที่พับแถบวัดของเครื่องวัดความดันโลหิตบนโต๊ะโดยให้ระดับแขนท่อนบนอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
  • วางแขนที่จะทำการวัดไว้บนพื้นโต๊ะเรียบให้ Arm cuff (แถบรัดแขน) อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ สามารถวัดได้ทั้งแขนซ้ายหรือขวา โดยต้องมั่นใจว่า ต้องมั่นใจว่าที่แถบรัดแขนขนาดพอดีกับแขนของผู้ใช้ โดยแนะนำว่าก่อนการเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต ควรวัดแถบรัดแขนกับรอบแขนท่อนบนของผู้ใช้ก่อน แล้วเลือกซื้อที่มีขนาดแถบรัดแขนพอดีกับรอบแขนของผู้ใช้
  • ผู้ป่วยควรวัดความดันซ้ำ 2-3 ครั้งโดย ห่างกันประมาณ 1 นาที
  • เมื่อวัดความดันเสร็จแล้ว ให้จดค่าที่อ่านได้จากเครื่องวัดความดันลงในสมุด เพื่อนำไปให้แพทย์ต่อไป
สำหรับผู้ป่วยควรวัดด้วยเครื่องวัดความดันเป็นประจำ และวัดในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันของทุกวันนะคะ เพื่อได้ค่าที่แม่นยำที่สุด เพราะค่าความดันโลหิตในแต่ละช่วงเวลาของวันอาจมีการขึ้นๆ ลง ๆ หรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยช่วงเวลาที่แนะนำคือช่วงเช้าก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ และในช่วงค่ำก่อนนอน ซึ่งหากวัดความดันในช่วงเช้า ควรวัดความดันโลหิตภายใน 1 ชม. หลังจากตื่นนอนและหลังปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว และควรวัดความดันโลหิตก่อนรับประทานอาหารเช้า และยังไม่ได้รับประทานยาลดความดันโลหิต (ถ้ามี)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประโยชน์ของถุงน่องที่มีมากกว่าใส่เพื่อแฟชั่น

รีโมทรถยนต์เสีย! ไม่ต้องตกใจ แก้ไขง่ายๆ

รวม 9 แหล่งเช่าพระเครื่องยอดนิยม